ตำนานหลวงพ่อโต……..เมื่อครั้งกสลก่อนมีตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปพี่น้อง 3 องค์ ล่องลอยมาตามน้ำจากทางเหนือ เมื่อมาถึงตำบลบางขวัญและตำบลบ้านใหม่ ก็ได้แสดงปาฏิหารย์ให้ชาวบ้านเห็นโดยการลอยทวนน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “สามพระทวน” และเพี้ยนไปเป็น “สัมปทวน” ในเวลาต่อมา จากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ลอยต่อไปจนถึงคุ้งน้ำ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันฉุดพระให้ขึ้นมาบนฝั่งด้วยเชือก แต่ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ จน ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “บ้านบางพระ” จากที่นี่องค์พระได้ลอยต่อไปถึงคลองเล็ก ๆ จากนั้นก็ลอยวน จนทำให้สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “แหลมหัววน” หลังจากนั้น ชาวบ้านได้ทำการอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาบวงสรวง จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กขึ้นฝั่งมาได้อย่างง่ายดาย เมื่อขึ้นฝั่งมาแล้ว ก็ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัด แล้วถวายนามพระว่า “พระโสทร” ซึ่งหมายถึงพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ล่วงมาจนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โสธร” ซึ่งแปลว่าสะอาด
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ลอยเรื่อยไปไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านประมาณ 3 แสนคนที่พบเห็นต่างเข้ามาช่วยฉุดขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาสถานที่ตรงนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่า “สามเสน” หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ไดลอยไปผุดที่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงที่พบเห็นจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดแหลมจนเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางได้ลอยน้ำไปผุดที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านที่พบเห็นแถบนั้นจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี และเรียกชื่อกันว่าหลวงพ่อโต วัดบางพลี อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป
ตำนานเขาสามมุข กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยตอนปลาย ณ หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีหญิงสาวสวยนางหนึ่งมีชื่อว่า สาวมุข หรือ สาวมุก หญิงผู้นี้เป็นชาวเมืองบางปลาสร้อย และกำพร้าบิดามารดามาตั้งแต่เกิด หญิงสาวอาศัยอยู่กับยายที่กระท่อมแห่งหนึ่งบริเวณเชิงเขาสามมุข ต่อมาสาวมุขได้พบรักกับชายหนุ่มที่มีชื่อว่า แสน ผู้เป็นบุตรกำนันบ่าย เศรษฐีแห่งบ้านหิน (อ่างศิลา) ที่อยู่ห่างจากเขาสามมุขไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ความรักของทั้งคู่เป็นความรักที่บริสุทธ์ และทั้งสองก็ต่างสัญญากันว่าจะรักกันไปชั่วนิจนิรันดร์
ทั้งคู่ใช้สถานที่บริเวณเชิงผาเป็นที่นัดพบกันเสมอ แต่เมื่อกำนันบ่ายทราบเรื่องราวความรักของทั้งคู่ ก็เกิดความรังเกียจในความยากจนของสาวมุข และบังคับให้แสนแต่งงานกับหญิงสาวที่ตนเลือกไว้แทน
ในวันแต่งงาน สาวมุขได้เดินทางมาอวยพรและรดน้ำสังข์ให้แก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งได้คืนแหวนที่แสนเคยมอบไว้ให้แก่ตน กว่าที่แสนจะรู้ว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง สาวมุขก็วิ่งหนีหายไปบนเชิงเขาริมหน้าผาแล้ว สาวมุขตัดสินใจจบชีวิตโดยการกระโดดหน้าผาเพื่อบูชาความรักอันแสนบริสุทธ์ครั้งนี้ เมื่อแสนรู้เรื่องก็เกิดความเสียใจอย่างสุดซึ้งจึงตัดสินใจกระโดดหน้าผาตายตามสาวมุขไป
จากเหตุการณ์ครั้งนี้เองทำให้ภูเขาแห่งนี้กลายเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของสาวมุขและหนุ่มแสน และมีชื่อเรียกว่า เขาสามมุข ส่วนชายหาดบริเวณใกล้เคียงก็มีชื่อว่า บางแสน ตามที่ปรากฎเป็นตำนานจวบจนถึงทุกปัจจุบัน
เกร็ด
เขาสามมุข หรือเขาเจ้าแม่สามมุข ตั้งอยู่ระหว่างตำบลอ่างศิลา และชายหาด บางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี บริเวณเชิงหน้าผาแห่งนี้มีศาลชื่อว่า “ศาลเจ้าแม่สามมุข” อยู่ ๒ หลัง หลังหนึ่งเป็นศาลไทย ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นศาลจีน ศาลทั้งสองล้วนเป็นที่เคารพสักการะของชาวประมงท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาสักการะบูชา เพื่อระลึกถึงอนุสรณ์แห่งความรักของสาวมุขและหนุ่มแสน
ปัจจุบัน เขาสามมุขเป็นบริเวณที่มีลิงป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาบนเขาสามมุข นำอาหารอย่างกล้วย อ้อย และถั่ว ฯลฯ ไปให้แก่ฝูงลิงเหล่านี้ เขาสามมุขจึงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีที่น่าสนใจ และเป็นตำนานที่เล่าขานกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ตำนานหลวงพ่อโสธร กว่า ๒๐๐ ปี ที่ผ่านมา ได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการลอยตามน้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยามาจากทางเหนือ จากนั้นได้มาผุดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณตำบลบางขวัญและตำบลบ้านใหม่ ก็ได้แสดงปาฏิหารย์โดยการลอยทวนน้ำ เมื่อชาวบ้านเห็นจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “สามพระทวน” ตามชื่อเหตุการณ์ แต่ก็เรียกเพี้ยนกันไปจนเป็น “สัมปทวน” ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ลอยต่อไปจนถึงคุ้งน้ำ ชาวบ้านมากมายพากันใช้เชือกฉุดขึ้นฝั่ง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ ทำให้ต่อมาชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านบางพระ” จากนั้นพระพุทธรูปก็ลอยต่อเข้าไปในคลองเล็ก ๆ แล้วก็เกิดลอยวน ทำให้ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “แหลมหัววน” ชาวบ้านได้พยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่ง แต่ก็ยังคงไม่สำเร็จอีกเช่นเคย จึงต้องทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาบวงสรวง จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กองค์นี้ขึ้นจากฝั่งได้โดยสำเร็จ แล้วนำขึ้นมาแล้วก็ได้พากันไปประดิษฐานที่วัด พร้อมถวายนามแก่องค์พระว่า “พระโสทร” ซึ่งหมายถึงพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน แต่เมื่อล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “โสธร” ที่มีความหมายว่าสะอาดนั่นเอง
ส่วนพระองค์พี่ใหญ่ เมื่อได้ลอยจากแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงบริเวณสามเสนในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถฉุดอาราธนาขึ้นมาได้สำเร็จแม้จะใช้คนมากถึงสามแสนคน จนเป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณนี้ว่า สามแสน นั่นเอง ต่อมาภายหลังจึงเพี้ยนกลายเป็นสามเสนในที่สุด สุดท้ายพระพุทธรูปก็ล่องลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัด สมุทรสงคราม และได้รับการอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม
ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้ายล่องไปผุดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อชาวบ้านแถบพบเจอ จึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี ทำให้เป็นที่มาของหลวงพ่อโต วัดบางพลี อันเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป
กล่าวกันว่าแต่เดิมองค์หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชรทรงสวยงาม ที่มีหน้าตักกว้างศอกเศษ แต่ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเกรงว่าองค์หลวงพ่อโสธรจะไม่ปลอดภัย จึงทำการพอกปูนหุ้มองค์จริงเอาไว้ จนเป็นที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า การสร้างตำนานพระลงน้ำถือเป็นกลวิธีการสานสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นในสมัยโบราณ ลักษณะการเชื่อมโยงสภาพภูมิศาสตร์เข้ากับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต เป็นเสมือนการบ่งบอกว่าคนไทยมีรากเง้าที่ผูกพันกันมาช้านาน และถือว่าทุกคนเป็นลูกเป็นหลานหรือเป็นญาติที่มาจากต้นตอเดียวกัน การผูกสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า เมืองจำปากนาคบุรี ที่เมืองแห่งนี้มีพญาพรหมทัต เป็นพญาผู้ครองเมือง มีมเหสีชื่อว่าพระนางจันทาเทวี มีลูกสาวชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานชื่อว่า นางคำแพง
นางแสนสีและนางแสนสีได้ชวนกันไปเล่นน้ำที่ทะเลหลวงอันแสนกว้างใหญ่ที่ในปัจจุบันก็คือทุ่งกุลาร้องไห้นั่นเอง ระหว่างการไปเที่ยวก็มีจ่าแอ่น เป็นผู้อารักขาไปด้วยตลอดทาง
กล่าวถึงชายหนุ่มสองคนที่มีชื่อว่า ท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ทั้งสองได้ร่ำเรียนอาคมกับพระฤาษีที่ป่าหิมพานต์จนสำเร็จการศึกษา ระหว่างเดินทางกลับบ้านเมืองของตน ก็ได้มากับฝั่งทะเลหลวงที่ไม่มีเรือพอจะให้ข้ามไปได้ ทั้งสองใช้คาถาเป่าฟางให้เป็นเรือสำเภาเพื่อนั่งข้ามทะเลมา และนั่งฟังเสียงคลื่นด้วยความสุขใจ
ส่วนนางแสนสี นางคำแพง กับจ่าแอน ที่ไปเล่นน้ำในแม่น้ำทะเลหลวง ก็ได้พบเจอกับท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ที่ล่องสำเภาผ่านมาพอดี ความรักจึงบังเกิดขึ้น ในเวลาต่อมา นางแสนสีและนางคำแพงจึงตกลงปลงใจขึ้นสำเภาหนีไปด้วยกัน
เมื่อพญาพรหมทัตผู้เป็นพ่อทราบข่าวจากนายทหารว่า ลูกสาวของตนถูกลักพาตัวหนีไป จึงได้ไปบอกพญานาคแห่งเมืองจำปากนาคบุรี ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนในเมืองได้อยู่กันอย่างสงบสุข ให้มาช่วยเหลือ
พญานาคเห็นว่าหากไม่ต้องการให้สำเภาแล่นต่อไปได้ ก็ต้องทำให้น้ำทะเลให้เหือดแห้ง ว่าแล้วจึงจัดการดูดน้ำทะเลออกจนหมด เมื่อทะเลแห้งไปแล้ว ท้าวฮาดและท้าวทอนจึงได้พานางแสนสีและนางคำแพงพร้อมด้วยจ่าแอ่นเดินทางเท้าต่อไปจนถึงบ้านแห่งหนึ่งและพักอาศัยกันอยู่ที่นั่น บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านแสนสี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย
จากนั้นจึงได้เดินทางรอนแรมกันต่อไปจนมาถึงริมป่าลำธารแห่งหนึ่ง พวกเขาได้ข้ามลำธารไปยังโนนบ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ระหว่างทาง จ่าแอ่นเกิดความเมื่อยล้าจึงไม่ขอเดินทางติดตามไปกับนางแสนสีและนางคำแพงด้วย แต่กลับขอพักอาศัยอยู่ที่บ้านแห่งนั้นต่อจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด ชาวบ้านได้ช่วยกันฝังร่างไร้วิญญาณของจ่าแอ่นไว้ ณ บ้านแห่งนั้นและตั้งชื่อว่าบ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันคือบ้านแจ่มอารมณ์ อำเภอเกษตรวิสัย
สี่คนที่เหลือเดินทางต่อไปจนมาถึงเขตป่าดง ด้วยความรักที่มีต่อนางแสนสีผู้หญิงคนเดียวกัน ท้าวฮาดคำโปงกับท้าวทอนจึงได้ต่อสู้กันเอง จนในที่สุด ท้าวฮาดคำโปงก็ถูกท้าวทอนฆ่าตายที่กลางทุ่ง และได้เรียกหมู่บ้านแห่งนั้นว่าบ้านฮาด ซึ่งต่อมาเป็นบ้านฮาด อำเภอเกษตรวิสัย
ด้วยความอาฆาต วิญญาณของท้าวฮาดจึงกลับมาล้างแค้นท้าวทอน โดยได้กลายมาเป็นผีโป่ง (ผีหัวแสง) เพื่อตามไล่ล่าท้าวทอน จนท้าวทอนต้องพานางแสนสีและนางคำแพงหนีไปทางตะวันตกซึ่งขณะนั้นเป็นทุ่งกว้างใหญ่ และด้วยความอ่อนเพลียจากการเดินทาง ทั้งสามจึงได้นอนหลับไปใต้ต้นไม้ใหญ่ ท้าวทอนและนางแสนสีตื่นขึ้นมาก่อน และปล่อยให้นางคำแพงเหลืออยู่เพียงผู้เดียว ทุ่งบริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ทุ่งป๋าหลาน ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
เมื่อพระอินทร์ส่องญาณวิเศษตรวจตราโลกมนุษย์ และได้พบเห็นท้องทะเลหลวงที่เคยเต็มไปด้วยน้ำ กลับแห้งเหือด และเต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตมากมายทั้งปลา หอย และกุ้ง นอนตายเน่าเหม็นคละคลุ้ง จึงได้บอกให้นกอินทรีย์ลงมากินซากสัตว์ในทะเลหลวงแห่งนี้ นกอินทรีย์ได้ถ่ายมูลออกเป็นก้อนขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ขี้นกอินทรีย์
เมื่อนกอินทรีย์จัดการซากทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็ไปทูลขอรางวัลจากพระอินทร์ พระอินทร์จึงก็ให้ช้างไว้เป็นอาหาร นกอินทรีย์ทั้งหลายพากันแย่งชิงช้าง บางตัวก็คาบหัวช้างไปกินแล้วทิ้งหัวไว้กลายเป็นป่าดง จนต่อมาบริเวณแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ดงหัวช้าง ซึ่งกลายมาเป็นบ้านหัวช้างในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมานในปัจจุบัน ส่วนบางตัวก็คาบได้เท้าช้างไปกินแถวดงแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นที่มาของชื่อ ดงเท้าสาร หรือที่เรียกว่าเขตอำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ส่วนเขตดงช้างที่มีช้างมากมาย ปัจจุบันก็กลายมาเป็นบ้านดงช้าง ในอำเภอปทุมรัตต์นั่นเอง
เมื่อหนีมาได้ ท้าวทอนและนางแสนสีก็เดินทางกลับไปยังเมืองจำปากนาคบุรี แต่ก็กลับมาพบแต่เมืองร้างที่ไร้ผู้คน เนื่องจากประชาชนกลัวนกอินทรีย์จึงพากันย้ายหนีออกไป ส่วนพญานาคก็ได้ดำดินหนีไปอยู่ที่ดินแดนที่ไกลออกไปจากเขตแม่น้ำโขง
ฝ่ายพญาพรหมทัตกับนางจันทราเทวีก็ตรอมใจตายด้วยความคิดถึงลูก เมื่อท้าวทอนและนางแสนสีสามารถรวบรวมไพร่พล และประชาชนที่เหลืออยู่ได้กลุ่มหนึ่ง ก็พากันบูรณะสร้างเมืองจำปากนาคบุรีขึ้นมาใหม่ และร่วมกันสร้างพระธาตุพันขันขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับบิดาและมารดา รวมถึงเพื่อไถ่บาปให้กับตนเองด้วย ต่อจากนั้น ทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันและครองเมืองอย่างมีความสุขจนสิ้นชีวิต
ตำนานพระธาตุดอยตุงกล่าวว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อน พระมหากัสสปเถระได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุ ๕๐๐ องค์ กับพระรากขวัญหรือกระดูกด้ามมีดเบื้องซ้ายมาถวายให้แก่พญาอชุตตราช ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองโยนกเชียงแสน ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสิงหนวัติ พญาอชุตตราชและพระมหากัสสปเถระจึงได้อัญเชิญพระธาตุขึ้นสู่ดอยตุงในบริเวณที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับในครั้งพุทธกาล ซึ่งบริเวณนี้มีก้อนหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายมะนาวผ่าครึ่ง
บริเวณดอยตุงดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขุหรือลัวะ ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ ปู่ลาวจก เมื่อพญาอชุตตราชได้บรรจุพระธาตุ ณ ดอยตุงแล้ว ก็ได้พระราชทานทองคำให้แก่ปู่ลาวจกเพื่อแลกกับที่ดินอันกว้างใหญ่รอบพระธาตุนี้สำหรับถวายเป็นคามเขตแด่องค์พระธาตุ โดยแผ่พื้นที่ออกไปด้านละ ๓,๐๐๐ วา พร้อมทั้งถวายมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว ให้เป็นข้าพระธาตุ เพื่อดูแลรักษาพระบรมธาตุด้วย ส่วนพระมหากัสสปเถระก็ได้อธิษฐานตุงทิพย์ยาว ๗,๐๐๐ วา เพื่อประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ จนต่อมาจึงเป็นที่มาของ ดอยตุง ตามชื่อของตุงทิพย์ดังกล่าว
ช่วงเวลาต่อมา ได้มีฤาษีสุรเทวะตนหนึ่งนำพระบรมอัฐิธาตุ ๑๕๐ องค์ มาถวายแก่พญามังรายผู้เป็นกษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสน พญามังรายจึงได้ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุเหล่านั้นไว้บนดอยตุงในบริเวณที่มีก้อนหินรูปมะนาวผ่าครึ่งนั้น พร้อมทั้งถวายที่ดินและเหล่ามิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวแด่พระธาตุเช่นครั้งแรก
ซึ่งจากการที่มีการประดิษฐานพระบรมอัฐิธาตุถึงสองครั้งสองคราว จึงทำให้บนดอยตุงมีพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่เคียงคู่ถึงสององค์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
ภายหลังจากนั้น ได้มีตำนานกล่าวถึงการสืบทอดเชื้อสายกษัตริย์จากวงศ์ลวะจักกะหรือปู่เจ้าลาวจก มาจนถึงกษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังราย ที่ได้คอยทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุงอยู่เสมอมา ตำนานกล่าวอ้างถึงพระนามพญามังราย พญาชัยสงคราม พญาแสนภู พญาคำฟู พญาผายู พญาเจ็ดพันตู พญามหาพรหม พญาแสนเมืองมา และพญากือนา ที่ระบุว่าได้ถวายที่ดินและมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว พร้อมทั้งคำสาปแช่งแก่ผู้ที่คิดจะมาล้มล้างการกระทำของพระองค์
กล่าวถึงพญาติโลกหรือพระเจ้าติโลกราชที่ได้ทรงถวายที่ดินและข้าบริวารเพื่อบำรุงพระธาตุ โดยทรงมีพระราชโองการเป็นตราหลาบเงิน หรือการจารพระราชโองการลงบนแผ่นเงินไว้ รวมทั้งได้ทรงโปรดให้เขียนตำนานความเป็นมาเป็นไปของพระธาตุดอยตุงไว้ด้วย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ลูกเจ้าฟ้ามังทราจากเมืองหงสาวดีได้เข้ามาปกครองอาณาจักรนี้ไว้ และได้จารึกตราหลาบเงินอีกฉบับหนึ่งเพื่อถวายทานแก่มิลักขุ และถวายที่ดินตามประเพณีที่พระมหากษัตริย์ล้านนาได้ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา
แนวคิด
จากเรื่องราวที่เล่าขานกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต จึงเกิดความเชื่อที่ว่าพระธาตุดอยตุงนั้นเป็นปฐมอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนาที่ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในแคว้นโยนกนาคพันธ์ และทำให้บรรดาพระมหากษัตริย์ขัตติยะที่สืบราชวงศ์ปกครองอาณาจักรล้านนาต่อกันมา ช่วยกันดูแลทำนุบำรุงอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด เพื่อให้พระธาตุดอยตุงอยู่เป็นศรีคู่ดินแดนแห่งนี้สืบไป
ท้าวแสนปม จ.กำแพงเพชร
กล่าวถึงชายผู้หนึ่งนามว่า ตาแสนปม ตาแสนปมเป็นคนทำสวนคนหนึ่งในวังของพระราชา แต่เขาเกิดมามีกรรมเพราะมีรูปร่างแปลกประหลาดไปจากคนทั่วไป ร่างกายของเขามีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อของเขานั่นเอง
ตาแสนปมมีหน้าที่ดูแลสวน และใช้น้ำปัสสาวะของตนรดต้นมะเขือต่างน้ำ ต้นมะเขือที่ปลูกด้วยน้ำปัสสาวะจึงเจริญเติบโตงอกงาม และออกผลใหญ่น่ารับประทาน ต่อมา มีลิงตัวหนึ่งแอบมาลักลูกมะเขือที่ตาแสนปมปลูกไว้ เมื่อเขาจับได้จึงคิดจะฆ่าลิง แต่ลิงก็อ้อนวอนขอแลกชีวิตของตนกับฆ้องลูกหนึ่ง ตาแสนปมจึงตัดสินใจรับข้อตกลง และปล่อยลิงตัวนั้นไป
วันหนึ่ง ราชธิดาผู้มีรูปโฉมงดงามได้เสด็จมาประพาสสวน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นมะเขือมีผลโตงดงามก็คิดอยากจะเสวย ตาแสนปมจึงเด็ดลูกมะเขือมาถวายให้แก่ราชธิดา
แต่ต่อมาไม่นาน ราชธิดาก็เกิดตั้งครรภ์และคลอดพระโอรสมาองค์หนึ่งออกมา แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของพระโอรส พระราชาจึงสั่งให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามเมืองต่างๆเพื่อเสาะหาเขย โดยประกาศว่า หากโอรสของพระธิดารับของจากมือชายคนใด พระองค์ก็จะยกพระธิดาให้แต่งงานรวมถึงจะยกเมืองให้ปกครองด้วย
เมื่อทราบข่าว บรรดาชายหนุ่มทั้งคนธรรมดาทั่วไป ลูกเศรษฐี ลูกมหาเศรษฐี และเจ้าชายจากเมืองต่างๆ ก็พากันนำขนมนมเนยต่างๆมากมายมาถวายแก่พระโอรส แต่พระโอรสก็ยังไม่ยอมรับของจาดใคร จนสุดท้าย ตาแสนปมได้นำเอาก้อนข้าวเย็นมามอบให้แก่พระโอรส ซึ่งพระโอรสก็รับเอาก้อนข้าวเย็นจากมือตาแสนปมมาอย่างง่ายดาย ทำให้พระราชารู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก และจะไม่ยอมยกพระธิดาให้ตามสัญญา
ตาแสนปมจึงได้นำฆ้องที่ลิงเคยมอบให้ออกมาตี ซึ่งทำให่ปุ่มปมที่เคยปรากฏบนร่างกายหายไปจนหมด และแปลงโฉมเป็นชายหนุ่มรูปงามแทน จากนั้นตาแสนปมก็ตีฆ้องซ้ำอีกครั้ง ก็ปรากฎเป็นกองทัพยกขบวนขันหมากขึ้นมา
เมื่อตาแสนปมมีรูปโฉมที่เปลี่ยนไป พระราชาจึงยอมให้อภิเษกสมรสกับพระธิดา และยอมยกเมืองให้ปกครอง แต่ตาแสนปมกลับไม่ยอมรับ และพาพระมเหสีกับพระโอรสเดินทางออกไปจากเมือง จากนั้นก็พากันเดินทางไปจนถึงชัยภูมิที่เหมาะสม แล้วจึงตีฆ้องเป็นครั้งที่ ๓ ทำให้ปรากฏเป็นเมืองที่มีปราสาทราชวังอันแสนใหญ่โตขึ้นมา และตั้งชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ ตาแสนปมจึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นท้าวแสนปม และปกครองบ้านเมืองอย่างมีความสุขสืบมา
นางกวัก เป็นที่ทราบกันดีว่านางกวักคือรูปปั้นที่มักถูกวางไว้หน้าร้าน และพ่อค้าแม่ขายมีไว้เพื่อกราบไหว้บูชา โดยหวังให้กิจการค้าของตนเจริญรุ่งเรือง
โดยนางกวักมีชื่อจริงว่า สุภาวดี มีบิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ ส่วนมารดาชื่อ สุมณฑา นางเป็นคนเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี ครอบครัวของนางมีอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อต้องการจะขยายกิจการ จึงไปซื้อเกวียนมา 1 เล่ม และสินค้าไปขึ้นเกวียนเพื่อไปเร่ขายตามถิ่นต่างๆ ซึ่งนางสุภาวดี ก็ขออนุญาตบิดาเดินทางตามไปด้วยในบางครั้ง เพื่อหวังเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย
ระหว่างเดินทางไปค้าขาย นางสุภาวดีได้พบกับ “พระกัสสปเถระเจ้า” ผู้เป็นอริยสงฆ์ เมื่อนางได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระกัสสปเถระเจ้า พระกัสสปเถระเจ้าก็ได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้ครอบครัวของนางสุภาวดีในทุกครั้งที่นางได้มีโอกาสไปฟังธรรม
ต่อมา นางสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาของตนไปทำการค้าอีก และได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” ด้วยความตั้งใจ จึงทำให้นางสุภาวดีมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ และเนื่องจากพระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น กล่าวคือ ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์มารดายาวนานถึง 7 ปี 7 เดือน และเมื่อคลอดออกมาก็พร้อมไปด้วยวาสนาและบารมีที่ติดตัวมากับวิญญาณธาตุของท่าน พระสิวลีท่านจึงเป็นผู้ที่มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอดในทุกคราวที่ต้องการ และเมื่อนางสุภาวดีมาฟังธรรมบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจ พระสิวลีเถระเจ้าจึงได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้แก่ครอบครัวของนางสุภาวดี
เมื่อจิตของนางสุภาวดีได้รับการประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆสมความปรารถนาเถิด” จึงส่งผลให้บิดาทำการค้าเจริญรุ่งเรือง และได้กำไรอย่างไม่เคยขาดทุน
เมื่อบิดารู้ว่า นางสุภาวดีคือต้นเหตุแห่งความเป็นมงคลนี้ และทำให้ครอบครัวมีเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย จนกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี พร้อมด้วยเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบเท่ากับธนัญชัยเศรษฐี ผูเป็นบิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของนางสุภาวดีจึงได้หมั่นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และ ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธาสืบมา
เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตลง ชาวบ้านจึงปั้นรูปปั้นของแม่นางสุภาวดีขึ้น เพื่อไว้บูชาเพื่อขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อเรื่องนี้ได้ถูกแพร่หลายข้ามประเทศเข้ามายังสุวรรณภูมิ และยังคงเป็นความเชื่อที่พ่อค้าแม้ค้าทั้งหลายยังคงศรัทธาสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ผีพราย ถูกเชื่อกันว่าเป็นจิตวิญญาณชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากสุด ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในน้ำมากกว่าบนบก พรายโดยส่วนใหญ่มักมีที่มาแหล่งกำเนิดมาจากซากพืชหรือซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่หมักหมมรวมกัน ดวงจิตวิญญาณนี้มักจะแสดงตนในลักษณะของดวงไฟเรืองแสง เพื่อหาที่อยู่โดยการสิงเข้าสู่บางส่วนของร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งถือว่าดีกว่าการสิงสู่ด้วยการหลอกล่อให้ลุ่มหลงเหมือนที่เคยเป็นมา
มักจะเห็นได้ว่า ผีพรายโดยส่วนใหญ่จะปรากฏกายเป็นผู้หญิง หรือในบางทีนางไม้ก็จัดเข้าพวกผีพรายได้เช่นกัน เช่น พรายตะเคียน พรายตานี เป็นต้น นอกจากนี้ ผีทะเลหรือผีน้ำก็จัดเป็นพรายด้วยเช่นกัน เช่น พรายทะเล พรายน้ำ เพียงแต่ว่าพรายน้ำที่มีลักษณะเป็นฟองผุดๆขึ้นมาจากน้ำนั้นถือเป็นพรายคนละอย่างกัน
ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ได้ปรากฏผีพรายที่เป็นโหงพรายเป็นหนึ่งในตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย ซึ่งคาดว่าผีพรายตนนี้น่าจะเป็นผีผู้ชายมากกว่า
Drag & Drop Website Builder