เรื่องราวของมหาภารตะเริ่มต้นจากตอนที่ 1 หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า อาทิตอน โดยเนื้อหาประมาณ 1 ใน 4 ของตอนนี้ จะเป็นการเปิดตำนานเล่าเรื่องโดยเริ่มต้นจากการลำดับวงศ์กษ้ตริย์แห่งราชวงศ์กุรุ ตำนานเริ่มจากพระราชาชื่อ ท้านศานตนุแห่งราชวงศ์กุรุเป็นสำคัญ แต่เมื่อเล่าไปก็จะย้อนถึงจำนานกษัตริย์ในราชวงศ์กุรุถอยหลังขึ้นไปโดยละเอียด และพิสดารมากขึ้นตามการเสริมแต่งในเวลาต่อมา
ท้านศานตนุแต่งงานกับเจ้าแม่คงคามีลูกชายด้วยกันคนเดียวชื่อ ภีษมะ ต่อมาท้าวศานตนุแต่งงานใหม่กับลูกสาวชาวประมงชื่อ สัตยวดี มีลูกชายด้วยกันสองคนคือ จิตรางคทะ กับ วิจิตรวีรยะ ลูกชายของท้าวศานตนุที่เกิดจากนางสัตยวดี ต่อมาตายไปโดยไม่มีลูกสืบวงศ์ต่อทั้งคู่ ในขณะที่ภีษมะเองก็ถือคำสัตย์สาบานจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิง ทำให้พระนางสัตยวดีต้องไปขอร้องให้วยาสซึ่งเป็นลูกนอกสมรสเกิดกับฤาษีปราศร ตั้งแต่ยังไม่ได้กับท้าวศานตนุ ซึ่งบวชเป็นฤาษีให้มาช่วยเป็นต้นเชื้อเพื่อมิให้สิ้นราชวงศ์ ฤาษีวยาสซึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดและสกปรกรกรุงรังยอมตกลงมามีความสัมพันธ์กับเมียหม้ายของวิจตรวีรยะทั้งสองคน คนแรกตอนมีความสัมพันธ์กันนั้นนอนหลับตาด้วยความขยะแขยงลูกที่ออกมาจึงตาบอดและมีชื่อว่า ธฤตราษฎร์ ส่วนคนที่สองตอนมีความสัมพันธ์กัน แม้ไม่ได้หลับตาแต่ก็กลัวจนเนื้อตัวซีดขาวไปหมด ลูกที่ออกมาจึงไม่แข็งแรงและมีเนื้อตัวซีดขาวตามไปด้วย เด็กคนนี้มีชื่อว่า ปาณฑุ
พระนางสัตยวดียังให้วยาสมีความสัมพันธ์กับคนรับใช้ในราชสำนัก แบบเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้อีกคน สำหรับรายนี้ซึ่งมีความสัมพันธ์กันปกติและไม่ได้รังเกียจอะไรลูกที่ออกมาจึงเป็นปกติมีชื่อว่า วิฑูร
เมื่อลูกชายสามคนของวยาสโตขึ้นตามลำดับ ภีษมะซึ่งทำหน้าที่อภิบาลร่วมกับพระนางสัตยวดีได้จัดการให้หลานชายทั้งสามคนแต่งงาน เจ้าชายคนที่ตาบอดแต่งงานกับเจ้าหญิงคานธารีและมีลูกด้วยกัน 100 คน ลูกชายคนโตชื่อ ทุรโยธน์ ส่วนเจ้าชายที่เนื้อตัวซีดนั้นมีเมียสองคน เมียคนแรกชื่อ กุนตี ซึ่งก่อนจะมาแต่งงานก็มีลูกนอกสมรสเหมือนกันชื่อว่า กรรณะ มาก่อนแล้วเมื่อมาแต่งงานกับเจ้าชายปาณฑุมีลูกด้วยกันสามคน คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ และอรชุน ส่วนเมียคนที่สองชื่อ มัทรี นั้นมีลูกแฝดชื่อ นกุล กับ สหเทพ
เรื่องลูกชายทั้งห้าของเจ้าชายปาณฑุกับเจ้าหญิงกุนตีและเจ้าหญิงมัทรีนั้น ในภายหลังก็มีการแต่งเรื่องเสริมให้ดูศักดิ์สิทธิ์พิสดารขึ้นไปอีก โดยให้เป็นลูกของเทพเจ้าห้าองค์คือ ยุธิษฐิระเป็นลูกที่เกิดจากธรรมเทพ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม ภีมะเป็นลูกที่เกิดจากเทพวายุ อรชุนเป็นลูกที่เกิดจากพระอินทร์ ส่วนนกุลกับสหเทพนั้นเกิดจากเทพแฝดคือ เทพอัศวิน
เจ้าชายปาณฑุขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแคว้นกุรุเมื่อถึงวัยอันควร หลังจากที่ท้าวภีษมะและพระนางสัตยวดีทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการมาระยะหนึ่ง เจ้าชายปาณฑุขึ้นครองราชย์เพราะพี่ชายคือเจ้าชายธฤตราษฎร์ตาบอด แต่พระชนมายุไม่ยืนสิ้นพระชนม์ไปก่อนเลาอันควร ทำให้ราชสมบัติตกเป็นของพี่ชายคือเจ้าชายธฤตราษฎร์ไปดดยปริยาย และมีข้อตกลงเป็นนัยว่าจะส่งมอบราชสมบัติให้กับลูกของท้าวปาณฑุกลับคืนไปเมื่อถึงเวลาอันควร
ด้วยเหตุนี้ลูกทั้งห้าของพระราชาปาณฑุและลูกทั้งร้อยของพระราชธฤตราษฎร์จึงได้รับการเลี้ยงดูภายในราชสำนักกรุงหัสตินาปุระแบบโตมาด้วยกัน แต่น่าเสียดายว่าได้เกิดความบาดหมางระหว่างลูกพี่ลูกน้องตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเรื่องอนาคตว่าฝ่ายใดคือลูกของท้าวปาณฑุหรือว่าลูกของท้าวธฤตราษฎร์จะได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เป็นสำคัญ
ในการอบรมเจ้าชายทั้ง 105 คน นั้นทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การอำนวยของท้าวภีษมะที่เป็นปู่โดยมีอาจารย์สองคนทำหน้าที่เป็นผู้สอนศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆให้ นั่นก็คือ กฤปาจารย์ และ โทรณาจารย์ ในการนี้ยังมีเด็กชายอีกสองคนที่มิใช่ลูกหลานกษัตริย์โดยตรงเข้าร่วมเรียนด้วย คนแรกคือ อัศวถามา ซึ่งเป็นลูกชายของโทรณาจารย์ ส่วนอีกคนคือ กรรณะ ซึ่งเป็นลูกนอกสมรสของพระนางกุนตี ในตอนเด็กกรรณะเป็นที่รังเกียจของลูกชายทั้งห้าของท้าวปาณฑุ ในขณะที่ลูกชายทั้งร้อยของท้าวธฤตราษฎ์รักใคร่ชอบพอกับกรรณะเป็นอันมาก
ด้วยเหตุที่เป็นลูกของท้าวธฤตราษฎร์พระราชาแห่งแคว้นกุรุ เด็กทั้งร้อยคนจึงได้รับการขนานนามว่า เการพ ส่วนลูกชายของท้าวปาณฑุได้รับการขนานนามว่าพวก ปาณฑพ
ในเวลาต่อมาเมื่อท้าวธฤตราษฎร์พระชนมายุมากขึ้น ก็แต่งตั้งให้ยุธิษฐิระพี่ชายคนโตของพวกปาณฑพขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแห่งแคว้นกุรุตามสิทธิในการขึ้นครองราชย์ แต่เดิมของท้าวปาณฑุ ผลจากการนี้ทำให้พวกปาณฑพยิ่งได้รับการยกย่องนับถือและมีอำนาจมากขึ้น การวางแผนเพื่อจะทำลายล้างพวกปาณฑพ โดยทุรโยธน์พี่ชายคนโตของพวกเการพเป็นต้นคิดก็เกิดขึ้นโดยมีน้องชายคนสำคัญคือ ทุหศาสัน และลุงของพี่น้องเการพคือ ท้าวศุกุนิพี่ชายของพระนางคานธารี ซึ่งเป็นมีเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจและเป็นจอมวางแผนให้ รวมทั้งยังมีกรรณะเป็นคนให้การสนับสนุนเป็นสำคัญรวมอยู่ด้วย
แผนการสังหารพวกพี่น้องปาณฑพถูกวางเอาไว้อย่างแยบยล ด้วยการให้มีการสร้างบ้านรับรองที่ทำด้วยขี้ผึ้งติดไฟง่ายรอท่าไว้ และหลังจากนั้นก็ไปเชื้อเชิญให้เจ้าชายปาณฑพทั้งห้าพร้อมกับพระนางกุนตีไปพักผ่อน เมื่อพวกปาณฑพเข้าไปพักก็ตัดการวางเพลิงเพื่อหวังให้ไฟคลอกตายทั้งเป็น เผอิญว่าวิฑูรเป็นผู้เป็นอาทราบข่าวแผนการลอบสังหารนี้ก่อน จึงได้แจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้พวกปาณฑพหนีตายรอดชีวิตไปได้อย่างหวุดหวิด ทั้งหมดหลบหนีไปทางใต้ดินที่ขุดเอาไว้และไปอาศัยอยู่ในป่า พวกเจ้าชายฝ่ายเการพต่างก็คิดว่าแผนการทั้งหมดลุล่วงไปด้วยดีถึงขนาดจัดให้มีการทำพิธีพระศพให้
ส่วนพวกปาณฑพที่ไปอยู่ในป่าก็ถูกพวกรากษสที่อาศัยอยู่ในป่าโดยการนำของ หิฑิมพะมุ่งหมายจะสังหาร แต่ว่าภีมะสามารถเอาชนะพวกรากษสและฆ่าหิฑิมพะผู้เป็นหัวหน้าได้และยังแต่งงานกับน้องของหัวหน้ารากษสที่เผอิญมาชอบพอกัน และในภายหลังมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อว่า ฆโตฏกจะ
ทางด้านท้าวทรุบทซึ่งเป็นพระราชาแคว้นปัญจาละ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำศึกแพ้อรชุนเพื่อแก้แค้นให้โทรณาจารย์ที่เคยเป็นสหายกันสมัยเรียนหนังสือ แต่กลับคำไม่ยอมให้ความช่วยเหลือเมื่อโทรณาจารย์เดินทางไปขอความช่วยเหลือ หลังจากเลิกรากันไปแล้ว มาบัดนี้ท้าวทรุบทได้จัดพิธีสยุมพรให้กับลูกสาวคือเจ้าหญิงเทราปที
สำหรับพิธีสยุมพรนั้นเป็นการแต่งงานตามประเพณีเดิมของอินเดียโบราณ ที่เปิดโอกาสให้เจ้าสาวสามารถเลือกว่าที่เจ้าบ่าวที่ได้รับการเชื้อเชิญมาให้เลือกได้ พวกเจ้าชายปาณฑพซึ่งได้รับการแนะนำจากพราหมณ์ให้เดินทางไปยังเมืองหลวงขแงแคว้นปัญจาละ เพื่อร่วมพิธีสยุมพรครั้งนี้ด้วยเพียงแต่ไปในคราบของพราหมณ์
ณ ที่นั้นบรรดาเจ้าชายเการพและเจ้าชายจากแว่นแคว้นอื่นๆ ก็มารวมตัวกันเพื่อให้เจ้าหญิงเทราปทีเลือกคู่รวมอยู่ด้วย เมื่อถึงเวลาเจ้าชายธฤตทยุมน์ ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าหญิงเทราปทีก็ประกาศต่อที่ประชุมว่า ถ้าหากเจ้าชายคนไหนสามารถใช้คันธนูขนาดใหญ่ของท้าวทรุบทผู้บิดายิงลูกศรไปยังเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้อย่างแม่นยำ ก็จะได้เจ้าหญิงเทราปทีไปครอง ปรากฎว่าบรรดาเจ้าชายหลายต่อหลายคนได้พยายามยกคันธนูและยิงลูกศรไปยังเป้าหมายที่จัดเตรียมเอาไว้ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งเหลือกรรณะเป็นคนสุดท้ายที่จะออกมาแสดงฝีมือให้เห็น แต่ก่อนที่กรรณะจะแสดงฝีมือให้ปรากฏ ทางเจ้าหญิงเทราปที ซึ่งรู้ว่ากรรณะคงสามารถทำได้เป็นแน่ ก็ประกาศว่าจะไม่ยอมรับลูกของสารถีมาเป็นสามี
เรื่องนี้มีคำอธิบายแทรกเพิ่มเติมว่าเมื่อพระนางกุนตีทอดทิ้งกรรณะตั้งแต่ยังเด็ก ปรากฏว่าสองสามีภรรยา คือ อธิรัฐ ซึ่งเป็นสารถีคนสนิทของท้าวธฤตราษฎร์และนางราธา ซึ่งเป็นเมียและไม่มีลูกด้วยกันได้เก็บกรรณะไปเลี้ยงเป็นบุตรของตน ทำให้กรรณะมีวรรณะที่ต่ำต้อยเป็นพวกในวรรณะศูทร ทำให้เจ้าหญิงเทราปทีใช้เป็นข้ออ้างเรื่องวรรณะต่ำต้อยกว่า
เมื่อกรรณะได้รับการปฏิเสธและบรรดาเจ้าชายจากแว่นแคว้นต่างๆ ไม่มีใครสามารถทำได้ตามที่เจ้าชายธฤตทยุมน์ประกาศ คราวนี้ก็มาถึงกลุ่มของพวกพราหมณ์ที่เข้ามาร่วมในพีธีสยุมพรปรากฎว่าในกลุ่มของพราหมณ์นั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นมาจากแถว ผู้แต่งตัวเป็นพาหมณ์คนนั้นก็คือ อรชุน และเป็นไปตามที่คาดหมายคืออรชุนสามารถแสดงฝีมือยิงธนูได้ตรงเป้าหมายตามกติกา เจ้าหญิงเทราปทีก็เข้ามาสวมพวงมาลัยคล้องคอให้อันเป็นการยอมรับและการตัดสินใจเลือกสามีของนางเป็นที่สุด ทำให้บรรดาเจ้าชายที่ยังอยู่ในมณฑลพิธีต่างก็ไม่พอใจและพยายามจะรุมสังหารท้าวทรุบทที่เรียกมาทำให้ขายหน้า แต่ว่าภีมะและอรชุนได้เข้ามาช่วยท้าวทรุบท หลังจากนั้นเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าพร้อมกับเจ้าหญิงเทราปทีก็เดินทางกลับไปยังบ้านพัก ซึ่งที่นั่นพระนางกุนตีได้ขอให้เจ้าหญิงเทราปทีรับเป็นภรรยาของเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าในเวลาเดียวกันโดยมีกฤษณะและพี่ชายคือ พลราม ที่ทราบข่าวจึง
มาร่วมแสดงความยินดีด้วย แต่ผลจากากรนี้ทำให้การซ่อนตัวของเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าไม่เป็นความลับอีกต่อไป ท้าวธฤตราษฎร์พระราชาแห่งแค้วนกุรุที่เป็นลุงจึงได้เชื้อเชิญให้เดินทางกลับไปยังกรุงหัสตินาปุระ พร้อมกันนั้นก็แบ่งอาณาจักรแคว้นกุรุให้พวกปาณฑพไปครองครึ่งหนึ่ง พวกปาณฑพก็เลยไปตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงอินทรปรัสถ์ริมแม่น้ำยมุนา ซึ่งก็เป็นบริเวณเดียวกับกรุงนิวเดลฮีของอินเดียในปัจจุบันนั่นเอง
ในการใช้ชีวิตร่วมกันอันแปลกประหลาดระหว่างเจ้าหญิงเทราปที กับสามีเจ้าชายปาณฑพทั้ง 5 คนนั้น เพื่อมิให้มีข้อขัดแย้งและเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน ได้มีข้อตกลงในหมู่เจ้าชายปาณฑพทั้งห้าคนว่า ในเวลาที่เจ้าหญิงเทราปทีอยู่อสงต่อสองกับสามีคนใดคนหนึ่ง อีกสี่คนที่เหลือจะต้องไม่ไปรบกวน แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งอรชุนซึ่งต้องการจะเข้าไปเอาอาวุธคู่มือเพื่อไปช่วยผู้ได้รับความเดือดร้อนที่มาขอความช่วยเหลือ เกิดลืมข้อตกลงบุกเข้าไปในห้องพักซึ่งเจ้าหญิงเทราปทีอยู่กับเจ้าชายยุธิษฐิระสองต่อสองโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็เป็นเหตุให้ถูกลงโทษโดยต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น และกลายเป็นการเดินทางผจญภัยของอรชุน ในการนี้อรชุนเดินทางไปยังแคว้นทวารกาเพื่อพบกับ กฤษณะ ผู้เป็นสหายและยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกันด้วยและเกิดไปตกหลุมรัก เจ้าหญิงสุพัตรา ซึ่งเป็นน้องสาวของกฤษณะ อรชุนพาเจ้าหญิงสุพัตราหนีไปอยู่ร่วมกันและต่อมาให้กำเนิดลูกชายนหนึ่งคือเจ้าชาย อภิมันยุ และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกฤษณะกับอรชุนแน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีก
มหาภารตะ ตอนที่ 1
เรื่องราวในตอนที่ 2 ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า สภาตอน ดำเนินต่อจากตอนแรกโดยจับเรื่องต่อจากตอนที่ พวกเจ้าปาณฑพซึ่งก่อตั้งอาณาจักรของตัวเองโดยมีกรุงอินทรปีสถ์เป็นเมืองหลวงประสบความสำเร็จขยายอำนาจและอิทธิพลของตนออกไปได้ มีประชาชนและผู้คนให้การสนับสนุนเป็ฌนจำนวนมาก และในที่สุดยุธิฐิระก็ประกาศสถานภาพของตนว่าบัดนนี้ได้เป็นจักรพรรดิแล้ว อันมีความหมายว่าเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เหนือพระราชาแว่นแคว้นอื่น
ในการนี้ทางราชสำนักกรุงอินทรปรัสถ์ได้เชื้อเชิญพระราชาจากแว่นแคว้นใกล้เคียงกัน ใหมาร่วมพิธีบวงสรวง ราชศูรยะ เพื่อเฉลืมพระเกียรติ การดำเนินดารดังกล่าวของพวกปาณฑพเป็นไปท่ามกลางความอิจฉาริษยาและเกลียดชังของพวกเการพเป็นอันมาก และเพื่อเป็นการตอบโต้และลดทอนอิทธิพลของพวกปาณฑพ ท้าวศกุนิผู้เป็นลุงของทุรโยธน์ ได้แนะนำให้ใช้วิธีเชิญท้าวยุธิษฐิระมาเล่นเกมทอดสกาพนันกัน เพราะศกุนิซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนมีวิชาในกาเล่นสกา เชื่อว่าตัวเองจะเอาชนะและสร้างความอับอายให้กับพวกปาณฑพได้
ท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นพ่อของทุรโยธน์ ได้รับการร้องขอให้เอ่ยปากชวนยุธิษฐิระมาเล่นสกากัน แม้ว่าในตอนแรกท้าวธฤตราษฎร์จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับเล่ห์กลดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ทำตามคำขอร้องของทุรโยธน์ โดยให้ท้าววิฑูรเป็นคนเชิญให้ยุธิษฐิระมาเล่นสกากันที่กรุงหัสตินาปุระ
การเล่นทอดสกาเกิดขึ้นภายในอาคารที่ประชุมที่เรียกว่า สภา และเรื่องสำคัญเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้จึงทำให้ตอนที่ 2 ของมหากาพย์มหาภาระมีชื่อว่า สภาตอน ในการเล่นทอดสกาเพื่อพนันขันต่อกันนั้น ปรากฎว่ายุธิษฐิระปราชัยอย่างย่อยยับต้องเสียทรัพย์สมบัติ อัญมณี เครื่องประดับที่มีค่า รถม้าศึก ข้าทาสบริวาร ช้างม้า และในท้ายที่สุดยุธิษฐิระได้ขอเดิมพันด้วยอาณาจักรที่ตนเองปกครอง ซึ่งก็เสียพนันอีก ยุธิฐิระซึ่งบัดนี้ตกอยู่ในภาวะอันบ้าคลั่งของการพนันขันต่อก็เอาตัวเองและพี่น้องปาณฑพอีกสี่คนเป็นเดิมพัน แต่ก็แพ้อีกและถูกยั่วยุจากทุรโยธน์กับศกุนิให้ใช้พระนางเทราปทีเป็นเดิมพัน ยุธิษฐิระต้องการเอาชนะให้ได้ ก็ตงลงเดิมพันด้วยพระนางเทราปทีและต้องพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ่ายแพ้ ทุรโยธน์ก็บังคับให้ส่งตัวพระนางเทราปทีซึ่งมีฐานะเป็นทาสจากการพนันให้ แต่พระนางเทราปทีไม่ยอมมาปรากฏตัว ทำให้ทุหศาสันลุแก่โทสะไปจิกหัวลากตัวมาจากที่พัก และนำตัวมายังที่ประชุมในสภา การกระทำย่ำยีครั้งนี้ทำให้ภีมะทนไม่ได้ประกาศก้องกลางที่ประชุมให้สัตย์สาบานว่าจะฉีกอกทุหศาสันเพื่อดื่มเลือดสดๆ ถ้าหากจะต้องทำสงครามล้างอายในวันข้างหน้า ส่วนทุรโยธน์ซึ่งล่วงเกินพระนางเทราปที โดยบังคับให้มานั่งบนตักนั้น ภีมะก็ประกาศว่าจะล้างแค้นด้วยการจะใช้คทาทุบสะโพกของทุรโยธน์ให้หักสะบั้น
เมื่อเหตุการณ์รุนแรงลุกลามบานปลายมาจนถึงขั้นนี้ ท้ายธฤตราษฎร์ก็เข้ามาไกล่เกลี่ยตามคำร้องขอของพระนางเทราปที ท้าวธฤตราษฎร์ให้ยุติการเล่นพนันกินบ้านกินเมืองแล้วสั่งให้ทุรโยธน์ส่งมอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ยุธิษฐิระแพ้พนันกลับคืนให้จนหมดสิ้นเพื่อให้เลิกแล้วต่อกัน แต่ทุรโยธน์ซึ่งยังไม่หายแค้นก็ยังดันทุรังขอให้ท้ายธฤตราษฎร์ผู้เป็นบิดาซึ่งเป็นคนอ่อนไหวโลเล และตามใจลูกชายให้เชิญยุธิษฐิระมาเล่นพนันทอดสกาเป็นครั้งสุดท้าย คราวนี้ตกลงกันว่าถ้าหากใครแพ้คนนั้นจะต้องลี้ภัยเป็นเวลาสิบสองปี และจะต้องซ่อนตัวไม่ให้ใครพบเห็นในปีที่สิบสามอีกหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาอยู่อย่างปกติในปีที่สิบสี่ ยุธิษฐิระแพ้พนันและต้องลี้ภัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับทุรโยธน์
มหาภารตะ ตอนที่ 2
เรื่องราวในตอนที่ 3 หรือมีชื่อเรียกว่า วนตอน อันเป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตในป่าของพวกปาณฑพหลังจากแพ้พนันสกาต่อพวกเการพ ดำเนินเรื่องต่อจากตอนที่ 2 และว่ากันว่าเป็นตอนที่มีความยาวที่สุด พิสดารด้วยรายละเอียดแทรกตำนานต่างๆ ไว้มากมายนั้น เริ่มจากพวกปาณฑพต้องลี้ภัยไปอยู่ท่ามกลางความเสียหายของประชาชนที่นิยมชื่นชอบ ในระหว่างที่กำลังจะเดินทางไปลี้ภัยในป่า ท้าววิฑูรพยายามอย่างหนักให้ท้าวธฤตราษฎร์ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวและให้เรียกตัวกลับมาแต่ไม่เป็นผล
เมื่อพวกปาณฑพไปอาศัยอยู่ในป่ามีพรรคพวกไปเยี่ยมกันไม่ขาดโดยเฉพาะกฤษณะเองก็ไปเยี่ยมพวกปาณฑพถึงในป่าด้วย พร้อมกับกระตุ้นปลุกใจให้พวกปาณฑพทำสงครามเพื่อยุติข้อขัดแย้งกับพวกเการพข้อเสนอของกฤษณะได้รับการสนับสนุนจากพระนางเทราปทีและภีมะ แต่ยุธิษฐิระปฏิเสธและยืนยันขอทำตามสัญญาที่ให้เอาไว้
ส่วนอรชุนซึ่งต้องลี้ภัยเพราะละเมิดข้อตกลงใช้เวลาอยู่ในสวรรค์เป็นเวลานานถึงห้าปี เพื่อสะสมอาวุธวิเศษ ในขณะที่พวกพี่น้องปาณฑพที่เหลือและพระนางเทราปทีอาศัยในป่าด้วยความยากลำบาก วันหนึ่งมีฤาษีชื่อ พฤหัสทัศวะ ได้มาเยี่ยมและได้ถือโอกาสเล่าเรื่อง พระนลกับพระนางทมยันตีให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้อดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ตำนานความรักระหว่างพระนลกับทมยันตีนั้นเป็นเรื่องราวของความรัก ซึ่งพระนลต้องได้รับความยากลำบากเพราะมีนิสัยชอบเล่นการพนันทอดสกาเหมือนกับยุธิษฐิระ โดยมีนางทมยันตีคอยให้ความช่วยเหลือเป็นกำลังใจและอดทนก่อนที่เรื่องจะจบลงด้วยดีในตอนท้าย
ในระหว่างที่อยู่ในป่า พวกปาณฑพได้มีโอกาสไปเยี่ยมสถานที่อันเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอีตเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวในอดีตจากบรรดาผู้บำเพ็ญพรตในป่าหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งที่ต้องเผชิญกับการคุกคามของพวกอสูรในป่าหลายต่อหลายครั้ง แต่ภีมะก็อาศัยพละกำลังแก้ไขสถานการณ์ได้ตามลำดับ
ทางด้านอรชุนเมื่อจบการเดินทางอันยาวนานก็เดินทางกลับมาสมทบกับพี่น้องปาณฑพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้อาวุธวิเศษไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พวกปาฎฑพยังได้มีโอกาสไปพำนักในสวนของท้าวกุเวรเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึงสี่ปีเต็ม ก่อนจะเดินทางกลับมาพำนักอยู่ในป่าแต่เดิมที่เคยอาศัยอยู่ และที่นั่นพวกปาณฑพยังได้ฟังเรื่องราวตำนานในอดีตที่มีคติสอนใจในเรื่องต่างๆ จากพวกฤาษีนักพรต ซึ่งแต่ละคนก็มีความกระตือรือร้นที่จะสอนพวกปาณฑพ
การใช้ชีวิตในป่าสำหรับพวกปาณฑพก็ไม่ต่างจากการได้ฝึกอบรมบ่มเพาะจิตใจของตัวเองพร้อกับได้เรียนรู้เรื่องที่จำเป็นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีในอนาคตไปพร้อมๆกันด้วย ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมความพร้อมที่สำคัญมาก
ส่วนทุรโยธน์เอง แม้จะรู้ดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยของพวกพี่น้องปาณฑพ แต่ทุรโยธน์ก็อยากจะทำอะไรเพื่อเป็นการสร้างความเจ็บช้ำเพิ่มเติมให้พวกปาณฑพอีกจึงเดินทางมายังป่าดังกล่าว แต่ว่าถูกพวกคนธรรพ์จับตัวไปได้และกลายเป็นว่าพวกพี่น้องปาณฑพต้องมาช่วยให้พ้นภัยไปในแบบที่ทุรโยธน์ไม่เต็มอกเต็มใจนัก ในขณืที่กรรณะเองได้ลงมือลงแรงอย่างหนักเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับทุรโยธน์ และถึงจุดจุดหนึ่งก็พร้อมใจกันสถาปนาทุรโยธน์ให้เป็นจักรพรรดิเหนือพระราชาแว่นแคว้นอื่นได้เป็นผลสำเร็จ
ในช่วงเวลาสิบสองปีของการอยู่ในป่าของพวกปาณฑพและพระนางเทราปที จะมีเรื่องเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และครั้งหนึ่งท้าวชยัทรัถพระราชาแห่งแคว้นสินธุได้มาลักพาตัวพระนางเทราปทีไป เดือดร้อนให้พวกปาณฑพต้องไปช่วยเหลือนำตัวกลับคืนมา ไม่ต่างจากตำนานของพระรามกับนางสีดาในมหากาพย์รามารณะ พร้อมกันนั้นฤาษีที่อาศัยร่วมกันในป่ายังได้เล่าถึงตำนานของพระนางสาวิตรีซึ่งมีความมั่นคงในความรักต่อสามีคือท้าวสัตยถาวร ถึงขั้นสามารถดึงรั้งชีวิตของท้าวสัตยวารกลับจากเงื้อมมือของพญายมได้เป็นผลสำเร็จ
ในระหว่างที่อยู่ในป่า ยุธิษฐิระได้แสดงความวิตกกังวลถึงความร้ายกาจของกรรณะเพราะรู้ว่ากรรณะได้รับของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่มีใครสามารถทำลายชีวิตได้ ทำให้พระอินทร์ซึ่งได้รับคำแนะนำจากพราหมณ์ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยปลอมตัวไปขอเสื้อเกราะและกุณฑลที่เป็นอุปกรณ์รักษาชีวิตจากกรรณะ โดยยอมแลกกับหอกวิเศษที่สามารถใช้ได้ตามใจปรารถนาเพียงครั้งเดียวเพื่อทำลายศัตรูที่เป็นใครก็ได้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในป่ายังรวมไปถึงความจายของพี่น้องปาณฑพสี่คน เพราะไปดื่มน้ำที่มียาพิษเดือดร้อนถึงยุษฐิระต้องไปขอชีวิตคืน ด้วยการตอบคำถามของยักษ์ที่เป็นเจ้าของสระน้ำมีพิษดังกล่าว
มหาภารตะ ตอนที่ 3
เรื่องราวในตอนที่ 4 ที่รู้จักกันในชื่อว่า วิราฏตอน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรแคว้นมัสยะของท้าววิราฎ จึงทำให้เรียกเรืองราวตามชื่อของพระราชาคนสำคัญคนนี้โดยเรื่องดำเนินต่อจาการลี้ภัยในป่าในวนตอนว่า ในที่สุดการลี้ภัยในป่าเป็นเวลาสิบสองปีก็ครบกำหนด แต่ว่าตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ พวกปาณฑพจะต้องซ่อนตัวไม่ให้ใครจำได้อีกเป็นเวลาสิบสองเดือนถึงจะถือว่าทำครบถ้วนตามสัญญา
พวกปาณพพเดินทางออกจากป่ามุ่งไปยังแคว้นมัสยะ แต่ก่อนจะถึงแคว้นมัสยะ ทั้งหมดได้เก็บซ่อนอาวุธไว้ในสุสานนอกเมือง และเข้าไปในแคว้นมัสยะเพื่อทำงานในราชสำนักของท้าววิราฎ ดดยยุธิษญิระทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของท้าววิราฎ ภีมะเป็นคนทำครัว อรชุนเป็นครูสอนเต้นระบำ ส่วนกุลไปเป็นคนเลี้ยงม้า ในขณะที่สหเทพเป็นคนเลี้ยงวัว สำหรับพระนางเทราปทีไปเป็นนางกำนัลให้กับพระมเหสีของท้าววิราฎ
ในระหว่างที่อยู่ในราชสำนักเกิดเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เมื่อน้องชายของพระมเหสีท้าววิราฎมาล่วงเกินพระนางเทราปที เดือดร้อนถึงภีมะซึ่งเป็นนักมวยปล้ำต้องเข้ามาช่วยสังหารน้องชายของพระมเหสีท้าววิราฎตายไป แต่ถึงกระนั้น การปลอมตัวของพวกปาณฑพในราชสำนักแคว้นมัสยะก็ยังไม่เป็นที่รู้กัน จนกระทั่งเกิดสงครามระหว่างแคว้นมัสยะกับแคว้นกุรุ พวกพี่น้องปาณฑพได้เข้าร่วมรบทำสงครามจนมีชัยชนะต่อกองทัพจากแคว้นตรีครรตะและแคว้นกุรุ ซึ่งมีทุรโยธนพี่ชายคนโตของพี่น้องเการพนำทัพมาด้วยตนเอง เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้พวกปาณฑพต้องเปิดเผยตัวเอง เพราะเข้าร่วมทำสงคราม และบังเอิญว่าเกิดขึ้นในช่วงเกือบจะสิ้นปีที่สิบสามอันเป็นปีสุดท้ายของการซ่อนตัวอย่างยาวนาน ทำให้เกิดปมประเด็นปัญหาว่าได้ทำตามสัญญาครบถ้วนหรือเปล่า
แต่การเปิดเผยตัวของพวกปาณฑพ ก็ทำให้ท้าววิราฎยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้คบหากับพวกปาณพพ นอกเหนือจากมีส่วนร่วมช่วยรบจนสามารถป้องกันจากการโจมตีของข้าศึกได้ ถึงขนาดยกลูกสาวคือ เจ้าหญิงอุตตะระ ให้แต่งงานกับเจ้าชายอภิมันยุซึ่งเป็นลูกชายของอรชุนด้วย
มหาภารตะ ตอนที่ 4
เรื่องราวในตอนที่ 5 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อุโทยคตอน อันมีความหมายว่าเป็นความพยายามที่จะมิให้พวกปาณฑพกับพวกเการพต้องทำสงครามกัน โดยดำเนินเรื่องต่อจากการเปิดเผยตัวของพวกปาณฑพทั้งๆที่ยังไม่ครบเวลาหนึ่งปีในช่วงซ่อนตัวปีที่สิบสาม ซึ่งถ้าหากทำตามสัญญาได้ครบก็สามารถเข้าไปครอบครองอาณาจักรแต่เดิมที่ยกให้ทุรโยธน์ไปได้ แต่ทางทุรโยธน์บอกว่าไม่ได้ทำตามสัญญา เพราะฉะนั้นพวกปาณฑพจะต้องลี้ภัยในป่าต่อไปอีกสิบสามปีเหมือนกับเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรื่องนี้ไม่สามรถหาข้อยุติได้ต้องตัดสินด้วยการทำสงคราม
ในขณะที่ความพยายามจะหาทางตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามดำเนินไปนั้น ต่างฝ่ายต่างก็พยายามก่อตั้งพันธมิตรเพื่อเตรียมทำสงครามใหญ่ กฤษณะเองได้รับการติดต่อจากสองฝ่ายเพื่อให้ร่วมกับฝ่ายตนและตกลงยกกองทหารของตนให้กับทุรโยธน์ไป ในขณะที่ตกลงให้คำแนะนำทำหน้าที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนฝ่ายปาณฑพตามคำขอของอรชุน
ท้าวศัลยะเข้าร่วมรบกับฝ่ายเการพ แม้จะมีฐานะเป็นลุงของฝ่ายปาณฑพโดยทำหน้าที่เป็นสารถีให้กับกรรณะ แต่ท้าวศัลยะก็รับปากกับยุธิษฐิระว่าแม้จะต้องทำหน้าที่เป็นสารถีบังคับรถม้าศึกให้กรรณะ แต่ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อมืให้กรรณะได้เปรียบในการทำศึก
ในระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม ทุรโยธน์ปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงสันติภาพ แม้ว่าบรรดาผู้อาวุโสไม่ว่าจะเป็นท้าวธฤตราษฎร์ ผู้เป็นบิดาและพระนางคานธีผู้เป็นมารดาจะขอร้องก็ตามที ส่วนกฤษณะเองก็ใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อชักชวนให้กรรณะมาอยู่ข้างฝ่ายปาณฑพเช่นเดียวกับพระนางกุนตีก็ยอมเปิดเผยตัวในระหว่างไปพบเป็นการส่วนตัวกับกรรณะ ว่าเป็นแม่ที่ให้กำเนิดเพื่อขอให้กรรณะย้ายข้างมาอยู่กับฝ่ายปาณฑพแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ กรรณะตัดสินใจอยู่กับฝ่ายเการพเพื่อย้ำมิตรภาพระหว่างตนกับทุรโยธน์ แม้จะรู้ความลับชาติกำเนิดแล้วว่าตนเองเป็นลูกพระอาทิตย์กับพระนางกุนตีก็ตามที
เมื่อถึงเวลากองทหารฝ่ายเการพและปาณพพก็เดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบที่ทุ่งกุรุเกษตร ทางฝ่ายปาณฑพมีธฤตทยุมน์เป็นผู้บัญชาการรบ ส่วนท้าวภีษมะรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพ
ถ้าหากสรุปรวมความแล้วก็ต้องถือว่าเรื่องราวที่ดำเนินมาตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 5 นั้นเป็นการปูพื้นฐานให้คนอ่านได้เข้าใจว่า ทำไมพวกเการพกับพวกปาณฑพถึงต้องทำสงคราม และถ้าหากไม่ได้อ่านเรื่องราวตั้งแต่ต้นและเข้าใจว่ามหากาพย์มหาภารตะเป็นเรื่องการทำสงครามของพี่น้องเการพและปาณฑพเท่านั้น ก็ต้องถือว่าพลาดในสาระสำคัญของมหากาพย์เรื่องนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเรื่องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างธรรมกับอธรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน เพราะมีตำนาน พงศาวดารหรือมหากาพย์เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะของอินเดียที่บรรยายการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ที่ต้องยุติด้วยการทำสงคราม
ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในปรวัติศาสรต์มนุษยชาติในคริสต์ศตวรรษที่ 20 แท้ที่จริงก็เป็นเรื่องซ้ำรอยเดิมกับสงครามที่ทุ่งกุรุในมหากาพย์มหาภารตะที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าประมาณสามสี่พันปี
มหาภารตะ ตอนที่ 5
เรื่องราวในตอนที่ 6 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ภีษมตอน ถือว่าเป็นตอนทีเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร และด้วยเหตุที่ดำเนินไปโดยมีท้าวภีษมะเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดจึงได้ชื่อนี้
เรื่องราวในตอนนี้ดำเนินต่อจากตอนที่ 5 โดยพูดถึง สัญชัย ซึ่งเป็นคนสนิทของท้าวธฤตราษฎร์ว่าได้รับอำนาจพิเศษให้สามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสมรภูมิและเป็นคนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับท้าวธฤตราษฎร์ฟัง และเป็นที่น่าสังเกตุว่าสถานการณ์สู้รบในสงครามที่เกิดขึ้นผู้อ่านได้รับรู้เรื่องทั้งหมกผ่านการเล่าเรื่องและอาจจะรวมถึงการตีความสำคัญของสัญชัยเป็นสำคัญ
ในตอนนี้เองที่เรื่องราวอันเป็นบทสนทนาโต้ตอบที่มีความยาวประมาณ 18 บทซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ภควัทคีตา ได้สอดแทรกเข้ามาเป็นเนื้อหาหลัก เนื้อหาในบทสนทนาเป็นตอนที่กฤษณะสั่งสอนอรชุนมิให้ลังเลในการทำสงคราม แม้ว่าศัตรูจะเป็นญาติของตนก็ตามที บทสนทนาอันสวยสดงดงามและมีความยาวพอสมควรดังกล่าว เป็นรื่องราวที่แยกออกมาต่างหากจากเนื้อหาที่กล่าวถึงสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร
การต่อสู้ซึ่งดำเนินไปเป็นเวลาสิบวัน โดยมีนักรบวีรชนคนกล้าของฝ่ายต่างรบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดำเนินไปจนถึงค่ำในวันที่ 9 ของสงครามเมื่อพวกพี่น้องปาณฑพแอบเข้าไปพบกับท้าวภีษมะ เพื่อขอแนะนำ และได้รับการบอกกล่าวจากท้าวภีษมะว่าตนจะยุติการสู้รบวางอาวุธด้วยเหตุเดียวคือเมื่อเผชิญหน้ากับ ศิขัณฑิณ สำหรับศิขัณฑิณนั้นเป็นลูกของท้าวทรุบท ซึ่งตอนเกิดเป็นเด็กหญิง แต่ในภายหลังกลับแปรเปลี่ยนเป็นผู้ชาย แต่ภีษมะไม่สนใจการแปลงเพศของศิขัณฑิณและยังถือว่าเป็นผู้หญิงตามเดิม เพราะฉะนั้นภีษมะจึงปฏิเสธที่จะสู้กับศิขัณฑิณ
พวกปาณฑพอาศัยคำแนะนำของภีษมะดังกล่าว ดำเนินการให้ศิขัณฑิณเผชิญหน้ากับภีษมะโดยมีอรชุนซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังศิขัณฑิณ และฉวยโอกาสยิงธนูเพื่อสังหารภีษมะในจังหวะที่วางอาวุธไม่ยอมสู้รบ ภีษมะถูกลูกธนูของอรชุนได้รับบาดเจ็บสาหัสและล้มลงนอนบนเตียงที่ทำจากลูกศรที่อรชุนยิงถล่มเข้าใส่ทั่วร่างกายนั่นเอง เรื่องราวมาจบลงตรงที่นักรบฝ่ายปาณพพและเการพต่างไปชุมนุมเพื่อแสดงความรพต่อท้าวภีษมะที่นอนรอความตายอยู่บนเตียงลูกศรกลางสมรภูมิ
มหาภารตะ ตอนที่ 6
เรื่องราวในตอนที่ 7 หรือในชื่อเรียกว่า โทรณตอน ซึ่งเป็นเรื่องราวการทำสงครามบนทุ่งกุรุเกษตรต่อไป และเนื่องจากโทรณาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพแทนท้าวภีษมะ จึงเป็นตัวละครที่มีบทบาทมากที่สุดตามการเรียกขานชื่อนี้นั่นเอง
เรื่องราวดำเนินต่อไป เมื่อโทรณาจารย์รับช่วงต่อจากท้าวภีษมะเป็นผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพ ในการทำศึกตอนหนึ่งท้าวชยัทรัถ ซึ่งเป็นน้องเขยของทุรโยธน์สามารถแยกเจ้าชายอภิมันยุลูกชายของอรชุนออกจากกองทัพฝ่ายปาณฑพทั้งหมดได้ และสามารถสังหารเจ้าชายอภิมันยุได้สำเร็จทำให้อรชุนโกรธและประกาศจะล้างแค้นด้วยการสังหารท้าวชยัทรัถให้ตกตายตามกัน ในขณะที่กรรณะได้ใช้หอกวิเศษที่พระอินทร์ประทานให้สังหารลูกชายภีษมะคือ ฆโตฏกจะ ทำให้กรรณะไม่มีอำนาจวิเศษเหลือที่จะสังหารพี่น้องปาณฑพคนใดคนหนึ่งได้อีกต่อไป
ในการสู้รบโทรณาจารย์สังหารท้าวทรุบท และท้าววิราฏสำเร็จในขณะที่กฤษณะใช้กลล่อลวงโทรณาจารย์โดยให้ภีมะสังหารช้างที่ชื่ออัศวถามา ซึ่งเป็นชื่อของลูกชายโทรณาจารย์เพื่อหลอกว่าอัศวถามา ตายแล้ว ยุธษฐิระซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนถือคำสัตย์เป็นสำคัญถูกกฤษณะเกลี้ยกล่อมให้โกหกโทรณาจารย์ด้วยคำพูดว่าอัศวถามาตายแล้ว และเมื่อโทรณาจารย์หลงผิดคิดว่าอัศวถามาตายแล้วจริงๆ เพราะคิดว่ายุธิษฐิระไม่มีวันโหก ก็เสียขวัญหมดกำลังใจวางอาวุธและบำเพ็ญตบะโยคะเพื่อละสังขารไปจากโลกนี้ เป็นจังหวะให้ธฤตทยุมน์เข้าไปตัดหัวโทรณาจารย์แล้วโยนเข้าไปในกองทัพฝ่ายเการพได้ สงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรได้ดำเนินมาจนถึงวันที่ 15 ก่อนจบโทรณตอน
มหาภารตะ ตอนที่ 7
เรื่องราวในตอนที่ 8 หรือเรียกกันว่า กรรณตอน ก็เพราะเหตุว่ากรรณะได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บัชาการการรบฝ่ายเการพสืบต่อจากโทรณาจารย์ ในการทำศึกครั้งนี้ภายใต้การบัญชาการรบของกรรณะ กรรณะได้ขอให้ทุรโยธน์ไปขอร้องให้ท้าวศัลยะทำหน้าที่เป็นสารถีรถม้าศึกของตน ในตอนนี้เองที่ภีมะสามารถล้างแค้นตามคำสาบานที่เคยให้ไว้ด้วยการจับทุหศาสันน้องทุรโยธน์ทุ่มลงจากรถม้าศึกและฉีกอกดื่มเลือดสดๆ เพื่อล้างอายให้กับพระนางเทราปทีที่เคยถูกทุหศาสันย่ำยี การสู้รบดำเนินต่อไปและยุธิษฐิระได้รับบาดเจ็บจากการทำศึก ร้อนถึงอรชุนต้องไปเยี่ยมให้กำลังใจก่อนจะกลับสู่สนามรบและท้าวกรรณะสู้กันแบบตัวต่อตัว
ในการสู้รบของสองคนนี้พระอิทร์เข้าข้างอรชุน ส่วนพระอาทิตย์เข้าข้างกรรณะ และเมื่อล้อรถม้าศึกของกรรณะจมลงไปในหล่มโคลนเพราะก่อนหน้านี้ในคืนวันที่ 16 ของสงครามได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก อรชุนไม่ยอมเสียโอกาสในการสังหารกรรณะ แม้ว่ากรรณะจะขอเวลาเพื่อรถม้าศึกที่ติดหล่มของตัวเองเสียก่อนก็ตามที
มหาภารตะ ตอนที่ 8
เรื่องราวในบรรพที่ 9 หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ศัลยบรรพ เนื่องเพราะท้าวศัลยะได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพสืบต่อจากกรรณะที่ตายไปแล้วนั่นงเอง
ท้าวศัลยะถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของยุธิษฐิระในการสู้กันแบบตัวต่อตัว ส่วนสหเทพก็สามารถสังหารท้าวศกุนิได้สำเร็จ มาถึงบัดนนี้ความพ่ายแพ้บังเกิดกับฝ่ายเการพของทุรโยธน์ ทหารฝ่ายเการพตายหมดยกเว้นทุรโยธน์กับนักรบอีกสามคนคือ อัศวถามา กฤปาจารย์ตวรมันรวมเป็นสี่คนเท่านั้น ทุรโยธน์หลบไปอาศัยอยู่ใต้หนองน้ำ และใช้อำนาจวิเศษกบดาลอยู่ใต้สระน้ำเพื่อนซ่อนตัว แต่ในที่สุดพวกปาณฑพก็ตามหาจนพบและท้าทายให้ทุรโยธน์ขึ้นมารบเพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ เป็นภีมะเองที่เป็นคนท้าทุรโยธน์ให้มาสู้ตัวต่อตัวกันด้วยอาวุธที่สองคนถนัดเป็นพิเศษนั่นก็คือคทา ภีมะกับทุรโยธรน์สู้กันแลลตัวต่อตัวโดยมีนักรบคนอื่นๆยืนดูอยู่ ภีมะอาศัยการแนะนำของกฤษณะใช้คทาฟาดไปที่หน้าขาของทุรโยธน์ และเตะด้วยเท้าซ้าย ทุรโยธน์ไม่สามารถเดินไปไหนได้นอกจากคลานและนอนรอความตายที่สระน้ำที่ซ่อนตัวนั่นเอง พวกปาณฑพทั้งให้ทุรโยธน์นอนรอความตาย
ทุรโยธน์ประณามกฤษณะที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมบอกใบ้ให้ภีมะทำร้ายตน ด้วยความเคียดแค้นในขณะที่พวกปาณฑพส่งกฤษณะให้เดินทางไปปลอบโยนท้านธฤตราษฎร์ และพระนางคานธารีให้คลายความโศกเศร้าจากการต้องสูญเสียทุรโยธน์ แต่ทุรโยธน์ยังไม่ตายและอาศัยช่วงเวลาในการมีชีวิตช่วงสุดท้ายแต่งตั้งอัศวถามาเป็นผู้บัญชาการรบฝ่ายเการพ แม้จะมีทหารเหลือยู่เพียงสามคนก็ตามทีและอัศวะถามาก็รับปากจะช่วยแก้แค้นให้กับทุรโยธน์
มหาภารตะ ตอนที่ 9
เรื่องราวในบรรพที่ 10 หรือมีชื่อเรียกว่า เสาปติกบรรพ ชื่อของตอนนี้แปลว่ากำลังนอนหลับอยู่ ซึ่งบอกให้รู้ว่าเรื่องราวดำเนินไปสภาการณ์เช่นไร
นักรบฝ่ายเการพที่เหลืออยู่สามคน ลักลอบเข้าไปโจมตีพวกปาณฑพที่เหลืออยู่ในตอนกลางคืน มีเพียงกฤษณะและพี่น้องปาณฑพห้าคนกับสายตกีเท่านั้นที่ไม่ได่นอนอนอยู่ค่ายที่พักอัศวถามาสังหารธฤตทยุมน์เพื่อแก้แค้นให้พ่อก่อนเป็นคนแรก และหลังจากนั้นก็เดินไปตามที่นอนของนักรบแต่ละคนเพื่อสังหารและฆ่าทหารทุกคนที่นอนหลับอยู่ในค่ายพักรวมทั้งศิขัณฑิณและลูฏชายทั้งห้าคนของพระนางเทราปทีกับพี่น้องปาณฑพด้วย
พวกอสูรได้เข้ามาร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยการกินเนื้อสดๆ ของนักรบฝ่ายปาณฑพที่ถูกอัศวถามาฆ่าตายอย่างสยดสยอง อัศวถามากลับไปเล่าเรื่องให้ทุรโยธน์ที่นอนรอความตายว่าได้ล้างแค้นให้แล้ว
ในขณะที่พระนางเทราปทีเสียใจจนแทบจะเป็นบ้า เพราะลูกชายถูกฆ่าตายทั้งหมดทั้งห้าคนและนางได้เรียกร้องให้พี่น้องปาณฑพผู้เป็นสามีจัดการกับอัศวถามาเพื่อล้างแค้นให้ เรื่องราวของอัศวถามาตามการเล่าเรื่องแต่เดิมของมหากาพย์มหาภาระไม่ปรากฎชัด เพราะเชื่อกันว่าต้นฉบับสูญหายไป แต่สิ่งที่คนปัจจุบันได้อ่านกันนั้นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแต่งตั้งขึ้นใหม่และน่าจะมีเนื้อหาแตกต่างไปจากเดิมแน่นอน เพราะชะตากรรมของอัศวถามาซึ่งเป็นพราหมณ์นั้นไม่ได้ถูกฆ่าให้ตกตายตามไป แต่ถูกกฤษณะสาปให้ต้องเร่ร่อนพเนจรเป็นเวลาสามพันปีโดยไม่มีใครยอมรับและจดจำได้ว่าเป็นใครด้วย
สรุปรวมความมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า เหตุการณ์ที่เป็นแก่นกลางของเรื่องในมหากาพย์มหาภาระจบลงที่ตรงนี้ เพราะบัดนนี้สงครามที่ทุ่งเกษตรด้จบลงแล้ว ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายเการพอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่รอดตายในสงครามครั้งนี้ในฝ่ายเการพมีเพียงสามคนคือ กฤปาจารย์ อัศวถามาและกฤตวรมัน ส่วนทางฝ่ายปาณฑพเองก็รอดตายเพียงแค่ พี่น้องปาณฑพห้าคน คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ รวมทั้งกฤษณะและสาตยกีเท่านั้นรวมกันเป็นเจ็ดคน ส่วนคนอื่นที่เหลือตายในสนามรบกันหมดทุกคน นี่คือสงครามล้างผลาญชีวิตผู้คนขนานใหญ่อย่าไงม่เคยปรากฎมาก่อน
มหาภารตะ ตอนที่ 10